สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ต้องเริ่มให้เร็ว
การจะเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงได้นั้นจำเป็นต้องมีการวางแผนระยะยาว “ดีที่สุดเลยคือต้องเริ่มตั้งแต่ยังอยู่ในวัย 30-40 ปี เวลาเราเห็นผู้สูงอายุที่สุขภาพดีลองถามท่านดูว่าทำอย่างไรแล้วจะเข้าใจ เพราะคำตอบจะคล้ายๆ กัน นั่นคือ รู้จักเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย มีสุขภาพจิตดี มีงานอดิเรกที่ชื่นชอบ”
ย้ำว่าคุณลักษณะเหล่านี้ต้องสร้างให้เป็นนิสัยตั้งแต่วัยผู้ใหญ่ตอนต้นแล้วจะส่งผลดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ เพราะเป็นการยากที่จะให้ผู้ใหญ่วัย 60-70 ปีที่ไม่เคยออกกำลังกายเลยหันมารักการออกกำลังกาย เช่นเดียวกับเรื่องของงานอดิเรก ซึ่งช่วยคลายความหดหู่หรือความเหงาได้มากในผู้ใหญ่วัยเกษียณ
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่มีใครย้อนเวลากลับไปได้ ผู้สูงอายุในวันนี้จึงต้องดูแลสุขภาพอย่างจริงจังมากกว่าคนรุ่นก่อนหน้า เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับอายุที่จะยืนยาวขึ้น
เวชศาสตร์ผู้สูงอายุคือคำตอบ
สาขาหนึ่งของการแพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี คือ เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทและความสำคัญมากยิ่งขึ้นทุกขณะ
ทั้งนี้แนวคิดของเวชศาสตร์ผู้สูงอายุคือ ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มประชากรที่มีลักษณะพิเศษและต้องการวิธีการดูแลที่แตกต่างจากวัยผู้ใหญ่ทั่วไป“ผู้สูงอายุไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่เจ็บไข้ได้ป่วย แต่เป็นกลุ่มคนที่เปลี่ยนแปลงไปจากวัยผู้ใหญ่ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย จิตใจ สังคม สมอง ความสามารถ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนไปตามอายุ ดังนั้นจึงต้องการการดูแลที่เฉพาะเจาะจง” พญ.ลิลลี่ อธิบาย
การดูแลตามอายุจึงเป็นหลักการกว้างๆ ของเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ โดยแบ่งผู้สูงอายุออกได้คร่าวๆ เป็น 3 ช่วงวัย ได้แก่
The young old (60-69 ปี) คือผู้ที่เพิ่งย่างเข้าวัยผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีสุขภาพแข็งแรงดี อาจมีโรคประจำตัวบ้าง เช่น เบาหวาน ความดันดังนั้น การดูแลจะเน้นไปที่การป้องกันหรือประเมินหาความเสี่ยงของการเกิดโรค เช่นตรวจภาวะกระดูกพรุน ซึ่งผู้สูงอายุหลายรายกว่าจะทราบว่าเป็นโรคกระดูกพรุนก็เมื่ออายุ 80 ปีไปแล้ว
The middle old (70-85 ปี) เป็นช่วงอายุที่เริ่มมีโรคประจำตัวมากขึ้นแต่ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองอาจจะน้อยลง ขณะเดียวกันผู้สูงอายุกลุ่มนี้ก็อยากจะพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด ดังนั้นเป้าหมายของการดูแลจึงเป็นการทำให้ผู้สูงอายุคงคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยการดูแลสุขภาพร่างกาย เช่น ดูแลให้กล้ามเนื้อกระดูกและข้อไม่ติด ช่วยให้ผู้สูงอายุยังคงเดินได้แม้มีภาวะเข่าเสื่อม หรือจัดการให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างพอเพียงแม้จะมีปัญหาเรื่องการเคี้ยวอาหาร เป็นต้น
The oldest old (86 ปีขึ้นไป) เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มักมีความสามารถพึ่งพาตัวเองลดลงและต้องได้รับการดูแลจากลูกหลานญาติพี่น้อง พยาบาลหรือผู้ดูแลพิเศษ ซึ่งการดูแลผู้สูงอายุในช่วงวัยนี้จะเป็นการอบรมหรือให้คำแนะนำแก่ผู้ดูแลในเรื่องต่างๆ อาทิ โภชนาการ กายภาพบำบัดรวมถึงเป็นตัวกลางระหว่างผู้ป่วย ญาติ ผู้ดูแล และแพทย์ที่รักษาโรคต่างๆ ของผู้ป่วย
“นี่เป็นหลักในการดูแลทั่วไป แต่จริงๆ แล้วการแบ่งกลุ่มโดยใช้อายุเป็นเกณฑ์นี้ไม่จำเป็นเสมอไป ในทางปฏิบัติแพทย์มักจะแบ่งตามสุขภาพและความสามารถในการดูแลตนเองของผู้สูงอายุมากกว่า เพราะผู้ใหญ่วัย 85 บางท่านอาจจะแข็งแรงกว่าผู้ที่อยู่ในวัย 75 ก็ได้